บทเรียนจากโรคระบาดและภัยพิบัติในหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะวิกฤตโควิด 19 ทำให้ประชาคมโลก รวมถึงประเทศไทย ได้เรียนรู้ผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรุนแรงกว่าการระบาดครั้งใดใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นกระทบต่อทั้งในระดับสังคมภาพรวม ระดับชุมชน จนถึงระดับปัจเจกชน และหากจะมองย้อนกลับไป ตั้งแต่การระบาดของอีโบลา ที่ถือว่าเป็นการระบาดหนึ่งที่สั่นสะเทือนชาวโลก (World shaking outbreak) ทำให้เกิดความตระหนักร่วมกันว่า “โรคระบาดที่เกิดขึ้นมานานในดินแดนชายขอบของประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่เคยมีใครให้ความสนใจมากว่า 4 ทศวรรษ” อาจมีผลกระทบต่อประชาคมโลกอย่างใหญ่หลวงได้ ความตระหนักนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการแพร่ระบาดของอีโบลาออกนอกทวีปแอฟริกา ทำให้ประเทศต่างๆ ตื่นตระหนกและประเด็นนี้กลายเป็นวาระสำคัญในระดับโลกที่ประเทศต่างๆ นำมาหารือกันอย่างจริงจังในเวทีนโยบายสุขภาพเพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหา จนมีหลายประเทศและหลายองค์กรลงไปช่วยเหลือในการป้องกันควบคุมโรคและร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนจนสำเร็จในระยะเวลาภายใน 1 ปี
เมื่อเข้าสู่วิกฤตโควิด 19 ซึ่งเป็นบททดสอบสำคัญ ทำให้ได้พิสูจน์ความจริงอีกครั้ง เน้นย้ำว่า โรคระบาดเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ความเสียหายกระทบทุกภาคส่วน และในวิกฤตก็มีโอกาส ประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวและตอบสนองต่อการระบาดให้ทันท่วงทีเพื่อความอยู่รอด มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม มีการพัฒนายาและวัคซีนซึ่งสามารถดำเนินการได้สำเร็จในเวลารวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเรียกว่าประชาคมโลกสอบผ่านทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่ถือว่าสอบตกในเชิงมนุษยธรรม ที่ประชาชนอีกหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงยาและวัคซีน ทั้งนี้เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ลัทธิชาตินิยมที่มีการกักตุน เวชภัณฑ์ เอาไว้สำหรับประเทศของตน รวมถึงระบบสุขภาพของหลายประเทศที่ไม่เข้มแข็ง ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ จากการระบาดครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าโควิด 19 ทำให้ช่องว่างของความเท่าเทียมกว้างมากขึ้น และประชาคมโลกได้เรียนรู้ว่า เพื่อรองรับการระบาดในอนาคตโดยให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด จำเป็นต้องพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคสุขภาพ และการสนับสนุนประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางให้มีความพร้อม เพราะต่างตระหนักกันดีแล้วว่า “No one is safe, until everyone is safe”
ในปัจจุบันซึ่งการระบาดใหญ่ก้าวเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่นและประชาคมโลกเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ยังคงมีกระแสความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงระหว่างการระบาดที่สำคัญ (Interpandemic period) เช่น ความพยายามในการผลักดัน pandemic treaty เพื่อให้ระบบอภิบาลการระบาดดีขึ้น การจัดตั้งกองทุนเพื่อให้มีงบประมาณที่จะสนับสนุนการเตรียมความพร้อมแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก การผลักดันให้มีมาตราที่ครอบคลุมการแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาและวัคซีน รวมถึงความพยายามในการแก้ไขกฎอนามัยระหว่างประเทศเพื่อปิดข้อจำกัดของการดำเนินงานเดิม
นอกจากความเคลื่อนไหวสำคัญเหล่านี้ มีความพยายามในการกำหนดเป้าหมายในระดับโลกที่มีความท้าทายมากขึ้น โดยให้มีการตรวจจับและตอบสนองต่อการระบาดให้เร็วขึ้น เช่น 7-1-7 target for detection, notification and response รวมถึง เป้าหมาย Delivering Pandemic Vaccines in 100 days ที่ CEPI ได้วางไว้